เปลี่ยนจากเคยชินหลงมาเป็นรู้
การเปลี่ยนนั้นก็มีวิธีฝึก พยายามฝึกทำกรรมฐานอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่งที่เราถนัด พุทโธก็ได้ หายใจก็ได้ หายใจเข้าพุทออกโธก็ได้ จะดูท้องพองยุบก็ได้ จะทำจังหวะขยับมืออะไรอย่างนี้ก็ได้ จะเดินจงกรมก็ได้ จะนั่งก็ได้ เอาที่เราถนัดสักอย่างหนึ่ง แต่จุดสำคัญก็คือในขณะที่เราทำกรรมฐานนั้น ถ้าจิตเราหนีไปคิดเรื่องอื่น ทิ้งอารมณ์กรรมฐาน ให้เรารู้ทัน หรือจิตเราถลำลงไปเพ่งจ้องอารมณ์กรรมฐาน ให้เรารู้ทัน เรามีอารมณ์กรรมฐานอย่างหนึ่งมาเป็นเหยื่อ เป็นเครื่องสังเกตๆ จิตตนเอง
อย่างเราใช้ท้องพองยุบอย่างนี้ เพื่อจะสังเกตจิตตนเอง ท้องพอง ท้องยุบ เสร็จแล้วจิตหนีไปคิดเรื่องอื่นก็รู้ทัน หรือจิตมันจมลงไปอยู่ที่ท้อง ถลำลงไปเพ่งท้องก็รู้ทัน ตัวนี้เป็นหัวใจสำคัญ ของการปฏิบัติเลย ถ้าเราละเลย 2 เงื่อนไข อันหนึ่ง ละเลยอารมณ์กรรมฐาน ไม่มีอารมณ์กรรมฐาน อีกอันหนึ่ง ในขณะที่ทำกรรมฐาน ละเลยจิตตนเอง โอกาสประสบความสำเร็จไม่มีๆ เพราะบทเรียนอันนี้ชื่อว่าจิตตสิกขา เป็นบทเรียนที่จะทำให้เราได้สมาธิที่ดี ที่ถูกต้องขึ้นมา
สมาธิที่ถูกต้องเรียกว่าสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิอาศัยการทำสัมมาสติให้มาก เจริญสติให้มาก สัมมาสมาธิก็จะสมบูรณ์ขึ้นมา มันมีเหตุมีผลทั้งสิ้น ไม่มีฟลุคหรอก การทำสัมมาสติทำอย่างไรดี ต้องคอยรู้สึกกายรู้สึกใจเอาไว้ ต้องรู้เนื้อรู้ตัวไว้ วันๆ หนึ่งจิตเราชอบหลงไป เราไม่รู้ว่ามันหลง มันก็เลยหลงยาว เราจะมาฝึกตัวเอง ให้ประเภทหลงปุ๊บรู้ปั๊บๆ แล้วก็ด้วยวิธีทำกรรมฐานสักอันหนึ่ง จิตหลงไปคิด รู้ทัน ลืมอารมณ์กรรมฐานแล้ว จิตถลำลงไปเพ่งในตัวอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน
ทุกคราวที่เรารู้ เรียกเรามีสติแล้ว ไม่ใช่สติธรรมดาด้วย มันเป็นสติปัฏฐาน เพราะว่าเรารู้เท่าทันรูปธรรมนามธรรมของเราเอง ไม่ใช่สติอย่างโลกๆ ฉะนั้นทำกรรมฐาน พอจิตมันไหลไปคิดรู้ทัน จิตมันถลำลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน เรากำลังเจริญสติอยู่ คอยรู้ทันความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจิต จิตที่หลงไปคิดก็คือจิตที่ฟุ้งซ่าน จิตที่มีอุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน จิตที่ถลำลงไปเพ่ง มันก็หลง มีโมหะเหมือนกัน มองไม่ออกว่าตัวเองกำลังจมลงไปในอารมณ์กรรมฐาน ตราบใดที่ความหลงยังอยู่ ปัญญาเกิดไม่ได้ เจริญปัญญาไม่ได้
ฉะนั้นเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด อะไรก็ได้ แต่ทำแล้วต้องคอยรู้ทันจิตตนเอง อย่างถ้าเราชำนาญจริงๆ กระทั่งกสิณยังได้เลย กสิณบางอันต้องอาศัยวัตถุภายนอก กสิณบางอันไม่จำเป็นเลย อย่างกสิณที่อาศัยวัตถุภายนอก อย่างเราเล่นกสิณไฟ หรือกสิณดินอะไรอย่างนี้ เราดู กสิณลมอย่างนี้ เราดู ลมเราดูอย่างไร เราดูที่ใบไม้มันไหว เราคอยรู้สึก อย่างลมพัดมา ใบไม้ไหว พอลมหยุด ใบไม้นิ่ง แล้วถ้าจิตเราเผลอไปคิด รู้ทัน จิตถลำไปอยู่ที่ใบไม้ รู้ทัน อย่างนี้ก็ใช้ได้ แต่ยาก
กสิณบางอย่างไม่จำเป็นต้องอาศัยของข้างนอกเลย อย่างกสิณแสงสว่าง ไม่จำเป็นต้องไปดูแสงที่ไหนเลย ทำใจให้สบาย จิตก็สว่างขึ้นมาดูความสว่างในจิตอย่างนี้ก็ได้ ก็เป็นกสิณอย่างหนึ่ง แต่ว่าส่วนใหญ่ ที่ทำกสิณยาก ทำแล้วมักจะออกนอก ลืมจิตตนเอง จิตมันจะถลำลงไป
ฉะนั้นหลวงพ่อแนะนำกรรมฐานที่ง่ายๆ อย่างเราหายใจไป จิตเราหลง แต่ร่างกายเราก็ยังอยู่ ไม่หายไปไหนหรอก หรือเราดูท้องพองยุบ จิตเราหลงไป ร่างกายที่พองที่ยุบมันก็ยังอยู่ไม่หายไปไหน ใช้กรรมฐานที่ละเอียดเกินไป เกินกำลัง ก็ใช้ไม่ได้ผล ดูของที่ดูได้ๆ อย่างหลวงพ่อหัด หลวงพ่อใช้อานาปานสติบวกกับคำบริกรรมพุทโธ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ แล้วหลวงพ่อรู้ทันจิตตัวเอง
ทีแรกไม่รู้ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธไปเรื่อยๆ ต่อมาจิตมันสงบลง พุทโธหาย ก็เหลือแต่การหายใจ พอจิตสงบมากขึ้น ลมหายใจหายไป กลายเป็นแสงสว่างอยู่ตรงนี้ สว่างขึ้นมา แต่ไม่เห็น ไม่รู้ทันจิตตนเอง ฝึกทีแรก พอมันสว่างก็ไปดูในความสว่าง คราวนี้เลยเตลิดเปิดเปิงไปดูโน่นดูนี่ นิมิตต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย อยากรู้อยากเห็นอะไร ก็รู้ อยากรู้จิตใจคนอะไรอย่างนี้ มันเรื่องของสมาธิทั้งหมด
แล้ววันหนึ่งก็พบว่า จิตมันออกไปเห็นเทวดา เราก็อยู่กับเขาไม่ได้ ไปเที่ยวสวรรค์ เราก็อยู่ไม่ได้ เหมือนเราเป็นยาจก เราไปเที่ยวบ้านเศรษฐี ไม่เห็นจะมีประโยชน์อะไรเลย แล้วจิตมันเกิดกลัวขึ้นมา หลวงพ่อตอนเด็กๆ เป็นคนกลัวผี มันกลัวว่าถ้าจิตมันเห็นเทวดาได้ มันก็ต้องเห็นผีได้ ตั้งแต่นั้นเลยพยายามรักษาสติ แต่ตอนนั้นไม่รู้จักว่าคือการประคองจิตใจด้วยสติ เอาสติประคองจิตใจไม่ให้หลง ตอนนั้นไม่รู้จักวิธี ไม่รู้จักเรียกว่าจะเรียกว่าอะไร แต่ทำได้
คือพอภาวนา พุทโธหาย ลมหายใจหายเกิดแสงสว่าง แล้วก็คอยรู้ทันจิตไว้ จิตเคลื่อนเข้าไปในแสงสว่าง รู้ทัน ตรงนี้ถ้ารู้ไม่ทันจะออกไปรู้ทั่วจักรวาลเลย ไปได้หมด แล้วแต่กิเลสจะพาไป มันหลอน เชื่อถืออะไรไม่ได้หรอก รู้อดีต รู้อนาคตอะไร เชื่อไม่ได้ ไม่มีข้อพิสูจน์ โมเมกัน เชื่อไม่ได้หรอก แต่ว่าที่เชื่อได้ก็คือจิตเราถลำออกไป ถึงไปรู้ไปเห็น หลวงพ่อกลัวว่าถ้ามันถลำลงไปในแสงสว่าง เดี๋ยวมันเห็นผี
เพราะฉะนั้นเวลานั่งสมาธิ พอสว่างขึ้นมา พอจิตจะเคลื่อนเข้าไปที่แสง รู้ทันจิต จิตไม่เคลื่อนเข้าไป จิตก็ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา จะไหลไปคิด รู้ทันจิต จิตก็ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา ฉะนั้นกรรมฐานที่หลวงพ่อทำ สุดท้ายมันก็มาลงตรงที่รู้ทันจิตตัวเองนั่นเอง เราจะใช้กรรมฐานอะไรก็ได้ ขอให้รู้ทันจิตตัวเองไว้ ดูท้องพองยุบ จิตหนีไปคิดก็รู้ จิตถลำไปเพ่งท้องก็รู้ เหมือนหลวงพ่อดูแสงสว่างนั่นล่ะ ตัวนั้นเป็นแสงสว่าง พอดูแล้วจิตหนีไปคิดเรื่องอื่น รู้ทัน จิตถลำลงไปในแสง รู้ทัน หลักเดียวกัน
Comments