top of page
Writer's pictureวัดพลา

ที่พักของจิต

สมาธิเป็นของจำเป็น

เราทำสมาธิ เราไม่เข้าไปแทรกแซงจิต จิตมันจะได้พักผ่อนบ้าง มันถึงจะสงบ มันไม่ยากหรอก อาศัยสติสังเกตไปว่าที่เราลงมือปฏิบัติ เรานั่งสมาธิ อะไรอยู่เบื้องหลัง อยากสงบหรือเปล่า อยากดีหรือเปล่า หรือบางคนยิ่งหนักกว่านั้นอีก อยากรู้อยากเห็น เห็นผี เห็นเทวดา เห็นชาติหน้า เห็นชาติก่อนอะไรอย่างนี้ อย่างนั้นจิตมันทำงาน จิตไม่ได้พัก จิตก็เหมือนร่างกาย ก็ต้องการพักผ่อน ร่างกายทำงาน เราก็พามันพักผ่อนไป อาบน้ำอาบท่า พามันนอน ร่างกายก็สดชื่นขึ้นมา จิตทำงานหนักทั้งวัน คิด นึก ปรุง แต่งทั้งวัน ถ้าไม่ให้มันพักบ้าง จิตใจก็ไม่มีกำลัง

ฉะนั้นเราทำกรรมฐานก็แค่ว่าพาจิตมาพักอยู่กับอารมณ์กรรมฐานของเรา อย่างหลวงพ่อใช้อานาปานสติบวกกับพุทโธ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ให้จิตมันมาพักอยู่กับกรรมฐานนี้ล่ะ ไม่ได้หวังว่ามันจะดี มันจะสุข มันจะสงบ พอจิตมันมาอยู่กับอารมณ์กรรมฐานแล้วมันไม่ดิ้นรนปรุงแต่ง จิตมันก็อยู่ในสภาพเดิมของมัน คือมันประภัสสร มันผ่องใส สว่างอยู่ในตัวเอง ไม่มืดๆ ทึบๆ หนักๆ แน่นๆ แข็งๆ ซึมๆ ทื่อๆ อันนั้นของเก๊ทั้งหมดเลย

เราใช้ใจที่ปกติ แล้วอยู่กับอารมณ์กรรมฐานไป ไม่นานก็จะสงบ แล้วจิตจะมีกำลังขึ้นมาเพราะว่าเราหยุดใช้งานให้จิตทำงาน อย่างเวลาเรามีกิเลสขึ้นมา จิตก็ทำงานอุตลุดเลย มีราคะขึ้นมา จิตก็ดิ้นรนใหญ่ หาทางสนองราคะ มีโทสะขึ้นมาก็ดิ้นรน หาทางสนองโทสะ อย่างโกรธคน จิตก็ดิ้น ทำอย่างไรจะไปแก้แค้นมันได้ จิตที่มันดิ้นรน มันทำงานตลอดเวลา มันจะสูญเสียพลังงาน ไม่มีกำลัง ไม่ได้พักผ่อน

ฉะนั้นการปฏิบัติ เราทิ้งการฝึกจิตให้สงบไม่ได้ อันนี้เป็นสมาธิชนิดหนึ่ง เรียกว่าอารัมมณูปนิชฌาน เป็นของจำเป็น ถ้าจิตเราไม่เคยพักเลย ทำงานตลอดเวลา จิตมันจะไม่มีกำลัง โอกาสที่มันจะตั้งมั่น มันไม่ตั้งหรอก เพราะมันหมดแรง มันก็ล้มกลิ้งไปกลิ้งมา เหมือนคนไม่แข็งแรง ยืนอยู่ ก็ยืนไม่ได้นาน เดี๋ยวก็ล้มแล้ว

เพราะฉะนั้นทุกวันควรจะแบ่งเวลาทำความสงบจิตบ้าง ใช้กรรมฐานอะไรก็ได้ที่เราถนัด น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์กรรมฐานอันนั้นอย่างต่อเนื่อง แค่น้อมจิตหมายถึงเราไประลึกถึงอารมณ์กรรมฐานอันนั้นอย่างต่อเนื่อง เครื่องมือในการระลึกเรียกว่าสติ เพราะฉะนั้นทำสมถะให้จิตสงบก็ต้องอาศัยสติ ขาดสติจิตก็แอบไปทำงาน อยากดี อยากสุข อยากสงบ อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้

ความอยากเกิด จิตก็เกิดความดิ้นรน จิตเกิดความดิ้นรน จิตก็ไม่ได้พักผ่อน นานๆ จิตก็หมดแรง แล้วถ้าเราเจริญปัญญาในขณะที่จิตไม่มีกำลัง วิปัสสนูปกิเลสจะเกิดขึ้น จะหลอกเรานึกว่าบรรลุมรรคผลแล้ว บรรลุอะไร ยังทำสมาธิไม่เป็นเลย จะไปบรรลุมรรคผลอะไร เพราะฉะนั้นใช้จิตใจธรรมดาไปรู้อารมณ์ รู้กรรมฐานของเราไป

หลวงพ่อตอนเด็กๆ เรียนกับท่านพ่อลี ตอนนั้น 7 ขวบเอง เมื่อปี 2502 พ่อพาไปกราบท่านพ่อลี ตัวยังเล็ก ท่านชอบเด็ก เห็นเด็กๆ บางทีก็ให้นั่งตักแล้วก็สอนโน่นสอนนี่ บางทีท่านก็แจกขนม ท่านก็สอนหลวงพ่อ ท่านบอกกลับบ้านไป หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับหนึ่ง หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับสอง นับไปถึงเก้าหรือถึงสิบ จำไม่ได้แล้ว แล้วก็นับถอยหลัง เหมือนปล่อยจรวด พุทโธเก้า พุทโธ หายใจเข้าพุทออกโธเจ็ด เข้าพุทออกโธหก นับไล่ขึ้นไล่ลง

หลวงพ่อตอนนั้นยังเด็กมาก ยังไม่ได้เข้าโรงเรียนด้วยซ้ำไป นับถอยหลังไม่เป็น นับถอยหลังไม่เป็น ถ้านับถอยหลังจิตใจคิดวุ่นวาย มันก็รู้สึกว่าไม่ชอบ นับถอยหลังไม่ชอบ เราก็มาหายใจเข้าพุท หายใจออกโธนับหนึ่ง หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับสอง นับไปถึงร้อย แล้วก็เริ่มนับหนึ่ง ใหม่ ปรับกรรมฐานให้มันเหมาะกับจิตใจของเรา กรรมฐานอย่างนี้เราไม่ชอบ ทำไปก็ไม่สงบหรอก

เหมือนตอนไปเรียนกับหลวงตามหาบัว ตอนนั้นหลวงพ่อมีปัญหา คือหลวงพ่อทิ้งสมถะ ไม่ทำสมาธิเลย เดินปัญญารวดไปเลย จิตมันไปสว่างไปว่างอยู่ข้างนอก ไม่เห็น เป็นวิปัสสนูปกิเลสตัวหนึ่ง เรียกว่าโอภาส ไปถามท่าน ท่านบอกว่า พอท่านมองปร๊าด แล้วท่านก็ตอบเลย บอกว่า “ต้องเชื่อเรานะ ที่ว่าดูจิตนั้นดูไม่ถึงจิตแล้ว” เริ่มต้นอย่างนี้เลย บอกว่าดูจิตๆ ท่านบอก “ที่ว่าดูจิตนั้นดูไม่ถึงจิตแล้ว ต้องเชื่อเรานะ ตรงนี้สำคัญนะ เราผ่านมาด้วยตัวเราเอง อะไรๆ ก็สู้การบริกรรมไม่ได้” เพราะหลวงตาท่านถนัดพุทโธๆๆ ไปเรื่อยๆ

หลวงพ่อก็มาลองทำดู ท่านให้ทำบริกรรม เรามาบริกรรมพุทโธๆๆ ใจมันอึดอัด พุทโธเฉยๆ ใจไม่ชอบ เมื่อมาพิจารณาว่าทำไมท่านให้พุทโธ แสดงว่าสมาธิเราไม่พอแล้ว สมถะไม่พอ จิตไม่มีกำลังพอ จิตก็ไหลออกไปอยู่ในความว่าง เราก็กลับมาทำกรรมฐานที่ตัวเองถนัด หายใจเข้าพุท ออกโธ นับหนึ่ง หายใจอยู่ 28 ครั้ง จิตก็รวม ไม่ได้เจตนาให้จิตรวม จิตรวมเข้าที่เลย เข้าฐานเลย พอจิตรวม ถอยออกจากสมาธิมา แทบเขกหัวตัวเองเลย ที่ผ่านมาเรานึกว่าเราดูจิต เปล่า จิตไหลไปสว่างอยู่ข้างนอก ดูไม่ถึงจิตจริงๆ

เพราะฉะนั้นตัวสมาธิจำเป็น ถ้าจิตใจเราไม่มีสมาธิ อันแรกเลย ไม่มีกำลัง พอไม่มีกำลังแล้ว เราไปอุตริเดินปัญญา มันจะเกิดวิปัสสนูปกิเลส อย่างที่หลวงพ่อเจอเรียกว่า โอภาส เป็นวิปัสสนูปกิเลสตัวที่หนึ่งเลย แล้วนักดูจิตทั้งหลายจะเจอตัวโอภาส ส่วนใหญ่ที่เห็น มันสว่าง ว่างอยู่อย่างนั้น ฉะนั้นจิตต้องเข้าที่เข้าฐาน

การที่จิตเราตั้งมั่นเข้าฐานได้ ถึงฐาน อาศัยการทำสมาธินี่ล่ะช่วย เพราะฉะนั้นทุกคนต้องทำสมาธิ ถ้าอยากได้มรรคผลในชีวิตนี้ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด อะไรก็ได้ เพราะการทำสมถะไม่เลือกอารมณ์กรรมฐาน ใช้อารมณ์บัญญัติก็ได้ เช่น พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนังก็ได้ พิจารณาความตายก็ได้ พิจารณาคุณของพระพุทธเจ้า พิจารณาคุณของพระธรรม พิจารณาคุณของพระสงฆ์ พิจารณาคุณงามความดีของเทพเทวดา เทวดามีความดีอะไร ก็มีหิริโอตตัปปะ มีความละอายใจที่จะทำชั่ว มีความเกรงกลัวผลของการทำชั่ว นี่คุณสมบัติของเทวดา

หรือเราเจริญเมตตา กำหนดจิตคิดถึงสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ ขอให้มีความสุขอะไรอย่างนี้ อันนี้คือเจริญเมตตา เราคิดถึงสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ขอให้มันพ้นจากความทุกข์ อันนี้คือเจริญกรุณา กำหนดจิตให้ยินดีพอใจเวลาคนอื่นเขาได้ดี อันนั้นเรียกว่ามุทิตา แล้วถ้าเวลากำหนดลงไป ไปเจอเปรต อสุรกาย สัตว์นรก หรือเจอคนที่ลำบากอะไรอย่างนี้ เราพิจารณาแล้วเราช่วยไม่ได้ เราก็รู้ สัตว์ทั้งหลายเป็นไปตามกรรม เราช่วยเต็มที่แล้ว เขาลำบาก เราช่วยเต็มที่ เราช่วยไม่ได้ เราต้องมีอุเบกขา

ถ้าเราไม่มีอุเบกขา จิตที่มีเมตตา กรุณา มุทิตามันจะกลายเป็นอกุศลจิตแทน อย่างเรามีเมตตา มีความเป็นมิตรกับคนอื่นอะไรอย่างนี้ ไปๆ มาๆ บางทีเราไปหลงรักเขาเข้า อย่างเราเมตตาคนนี้มากๆ เมตตาไปเมตตามา กลายเป็นราคะ รักใคร่ผูกพันเขา อันนี้ต้องรู้ให้ทัน ถ้ารู้ทันแล้ว จิตมันจะเป็นกลาง มีอุเบกขา หรือเราเห็นคนตกทุกข์ได้ยาก เห็นหมาถูกรถชนอะไรอย่างนี้ เราก็พยายามช่วย อันนั้นเรียกว่ามีกรุณา อยากให้เขาพ้นทุกข์ แต่ช่วยไม่ได้จริงๆ มันตาย

หรือเราเห็นคนตกน้ำ เราก็ว่ายน้ำไม่เป็น ตะโกนให้คนอื่นช่วย ก็ไม่มีใครอยู่แถวนั้น จะหาไม้หาอะไรโยนไปให้ก็ไม่มี เห็นเขาจมน้ำตายต่อหน้าต่อตา เราพยายามเต็มที่แล้ว ช่วยเต็มที่ ช่วยเต็มที่ไม่ใช่ว่ายน้ำไม่เป็น โดดลงไปช่วย อันนั้นโง่ เรียกว่าไม่ประมาณตัวเอง ถ้าเราช่วยเต็มที่แล้วก็ไม่สำเร็จ เขาตาย เราก็ต้องพิจารณา สัตว์โลกมีกรรมเป็นของตัวเอง นี่เราคิดพิจารณาลงไป

ถ้าเรามีการคิดพิจารณาอยู่ เรียกว่าเป็นอารมณ์บัญญัติ ใช้ทำสมถะได้ พิจารณาความตาย พิจารณาปฏิกูลอสุภะ จิตก็จะสงบได้ อันนี้เป็นอารมณ์บัญญัติ ใช้อารมณ์รูปธรรมก็ได้ เช่น หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก ลมหายใจเป็นตัวรูป เราน้อมจิตมาอยู่กับลม จิตไม่หนีไปที่อื่น จิตรู้ลมอย่างสบายๆ มีความสุข ใช้จิตใจที่สบายๆ เห็นร่างกายหายใจไป ใจก็จะรวมสงบ อย่างนี้เราใช้รูปธรรม ลมหายใจเป็นตัวรูปธรรม

หรือเราเดินจงกรม เราเห็นร่างกายมันเดินไป ไม่คิดนึกปรุงแต่งอะไร เห็นร่างกายมันเดินไปเรื่อยๆ อันนั้นเราได้สมถะ ได้ความสงบด้วยการดูรูป หรือเราใช้นามธรรมก็ได้ เช่น อย่างที่หลวงพ่อทำ เราดูจิตเรา เราเห็นจิตมันปรุงแต่ง พอรู้ทัน จิตมันก็ว่าง สว่างขึ้นมา เราน้อมจิตไปอยู่ในความว่าง ความสว่าง ก็พักอยู่ตรงนั้นได้ ตรงนั้นก็เป็นสมถะ ใช้นามธรรมได้

ตรงนี้มีสติ ถ้าขาดสติมันจะเหมือนที่หลวงพ่อเล่าเมื่อกี้ที่ต้องให้หลวงตามหาบัวแก้ให้ อันนั้นจิตไหลออกไปสว่างว่าง แต่ไม่มีสติ รู้ไม่ทันว่าจิตออกไปแล้ว อันนั้นใช้ไม่ได้ แต่ถ้าเราต้องการพักผ่อน เราน้อมจิตไปอยู่กับความว่าง มีสติรู้ว่าจิตอยู่กับความว่าง ใช้ได้ จิตก็สงบ หรือใช้อารมณ์อีกชนิดหนึ่ง คืออารมณ์นิพพาน

“พอเรามีที่อยู่ จิตใจเราก็มีความสุข มีเรี่ยวมีแรงขึ้นมา พร้อมที่จะต่อสู้กับกิเลสต่อไป”



0 comments

Kommentare


bottom of page