top of page
Writer's pictureวัดพลา

จิตต้องมีกำลังของสมาธิ

ต้องฝึกให้จิตตั้งมั่นขึ้นมาเสียก่อน เราถึงจะแยกขันธ์ได้

จิตนี้ก็เหมือนกัน ไปเคี่ยวเข็ญมันมากมันยิ่งดื้อ ปฏิบัติต่อมันแบบฉลาดหน่อย รู้ทันมัน จิตหลงไป รู้ทัน จิตหลงไปคิด รู้ทัน จิตหลงไปเพ่ง รู้ทัน รู้เฉยๆ รู้แล้วไม่ต้องทำอะไรต่อ รู้แล้วจบลงที่รู้ สมาธิมันจะเกิดเองล่ะ จะไม่ใช่เรื่องยากเลย เรื่องของสมาธิ จิตใจมันจะสงบ มันจะตั้งมั่น รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ไม่เคลิ้ม ไม่เครียด

บางวันจิตของเราดีอยู่แล้ว เราทำในรูปแบบ เราก็เจริญปัญญา เจริญปัญญา เรามีจิตที่ตั้งมั่น สติระลึกรู้กายๆ เราก็ดูไป กายกับจิตนั้นคนละอันกัน สติระลึกรู้เวทนา เราก็เห็นเวทนากับจิตคนละอันกัน สติระลึกรู้สังขาร กุศล อกุศลทั้งหลาย โลภ โกรธ หลงทั้งหลาย ก็เห็นลงไป มันคนละอันกับจิต ตรงที่เราเห็นว่ากายกับจิตเป็นคนละอัน เวทนากับจิตเป็นคนละอัน สังขารกับจิตเป็นคนละอัน เราจะเห็นมันมีตัวร่วมสำคัญ คือจิตนั่นเอง

เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกให้จิตเราตั้งมั่นขึ้นมาเสียก่อน เราถึงจะแยกขันธ์ได้ ถ้าจิตเราไม่ตั้งมั่น เวลาเราดูกาย จิตเราก็ไหลไปรวมเข้ากับกาย เวลาดูเวทนา จิตก็ไหลไปรวมเข้ากับเวทนา เวลาดูสังขาร เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง จิตก็ไหลไปรวมกับสังขาร อันนั้น เพราะว่าจิตไม่มีกำลัง ไม่ตั้งมั่น ไม่มีสมาธิ ฉะนั้นการฝึกให้จิตตั้งมั่นเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญ ตัวนี้ล่ะที่จะทำให้เราภาวนาสำเร็จหรือไม่สำเร็จ

ตอนที่หลวงพ่อภาวนากับหลวงปู่ดูลย์ ใช้เวลา 7 เดือนก็เข้าใจจิตตัวเองแล้ว จิตมันไม่ใช่ตัวใช่ตนอะไร เห็นเกิดดับไปเรื่อยๆ เข้าใจ หลวงปู่บอกว่าช่วยตัวเองได้แล้ว หลวงพ่อก็ออกไปดูที่โน่นที่นี่ ดูเขาปฏิบัติกัน เราหาความรู้เพิ่มเติม ไปบางที่เห็นคนนั่งสมาธิ เดินจงกรมเป็นร้อยๆ นั่ง เห็นแล้ว นี่มันไม่ใช่การปฏิบัติ บางพวกก็นั่งฟุ้งซ่าน คิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ บางคนฟุ้งซ่าน อย่างขยับมือ ยังฟุ้งเรื่องมือเลย ท่านี้แล้วจะไปท่าไหน นี่ก็ฟุ้งซ่าน อีกพวกหนึ่งก็นั่งเพ่งเอา เพ่งกาย ดูลมหายใจก็เพ่งลม ดูท้อง เพ่งท้อง เดินจงกรม เพ่งเท้า จิตถลำลงไปเพ่ง เราดู โอ้ มันผิดอยู่ 2 อันนี้ล่ะ ไม่หลงลืมอารมณ์กรรมฐาน ก็ถลำลงไปเพ่งจ้องอารมณ์กรรมฐาน แล้วอย่างนี้มันจะภาวนาเป็นเมื่อไร ภาวนาไม่เป็นหรอกอย่างนี้

อย่างหลวงพ่อฝึกจิตก่อน ไม่รีบร้อนหรอก ฝึกจิตตั้งมั่นขึ้นมาแล้วก็ดูธาตุดูขันธ์มันไป เห็นมันเกิดดับ ค่อยดูเรื่อยๆ มันก็เดินปัญญาไปได้ ถ้าเราไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง จิตเราไม่ตั้งมั่น เจริญปัญญาไม่ได้จริง ฉะนั้นที่หลวงพ่อเคี่ยวเข็ญพวกเรามาก เรื่องสมาธิ เพราะหลวงพ่อบอกแล้วว่า จุดอ่อนของฆราวาส มันคือสมาธิไม่พอ อันนี้พูดสุภาพ ที่จริงคือไม่มีสมาธิเลย ถ้ามีก็เป็นมิจฉาสมาธิ ไม่ใช่สัมมาสมาธิ

มิจฉาสมาธิคือจิตมันไหลจมลงไปเพ่งไปจ้อง จมแช่อยู่ในอารมณ์กรรมฐานอันใดอันหนึ่ง นั่นล่ะมันเป็นมิจฉา ไม่มีสติกำกับ แต่ถ้าเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตเราไหลไปคิด เรารู้ทัน นี่เรียกว่าเรามีสติ จิตเราจมลงไปในอารมณ์กรรมฐาน เรารู้ทัน อันนั้นเรียกว่าเรามีสติ สมาธิ ตัวนั้นล่ะจะเป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิต้องประกอบด้วยสติเสมอ ขาดสติเมื่อไร ไม่ใช่สัมมาสมาธิ จับหลักตัวนี้ให้แม่นๆ ฉะนั้นถ้านั่งสมาธิแล้วก็เคลิ้ม ลืมเนื้อลืมตัว อันนั้นมิจฉาสมาธิ นั่งแล้วก็เห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นโน่นเห็นนี่ ลืมกายลืมใจของตัวเอง ไม่มีสติ อันนั้นก็เป็นมิจฉาสมาธิ

ปัญหาใหญ่ของผู้ปฏิบัติ คือขาดสมาธิที่ถูกต้อง ขาดสัมมาสมาธินั่นล่ะ ฉะนั้นทุกวันเราต้องแบ่งเวลาไว้เลย วันละหลายรอบก็ได้ ถ้ามีเวลามาก ตื่นเช้าให้เร็วขึ้นนิดหนึ่งแล้วก็ทำในรูปแบบ กลางวันกินข้าวแล้วก็ทำในรูปแบบ ตกเย็นตกค่ำไม่เที่ยวเถลไถล กลับบ้าน อาบน้ำอาบท่า พักผ่อน พอหายเหนื่อยก็ลงมือปฏิบัติ ทำในรูปแบบ

วันไหนจิตไม่มีกำลัง จิตฟุ้งซ่าน คอยหลงไป เคลิ้มไปบ้าง คิดไปบ้าง เราก็อยู่กับอารมณ์กรรมฐานของเรา จิตหนีไปคิดแล้วรู้ จิตถลำไปเพ่งแล้วรู้ จิตจะมีกำลังขึ้นมา จะตั้งมั่นขึ้นมา วันไหน ตอนไหนที่จิตมันมีกำลังตั้งมั่น อย่าตั้งโง่ๆ อยู่เฉยๆ ก็ต้องเดินต่อไป เดินปัญญา การเดินปัญญานั้น ขั้นที่หนึ่งเลย คือการแยกขันธ์ แยกรูปแยกนาม ตรงนี้ยังไม่ถึงวิปัสสนา เป็นขั้นที่หนึ่งเลยของการเจริญปัญญา การแยกรูปนาม

แยกรูปนามก็คือ อย่างร่างกายเราเป็นตัวรูป นามคืออะไร จิตของเราคือตัวนาม ฉะนั้นเวลาเราทำสมาธิที่ถูกต้องแล้ว จิตมันจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา พอเราได้จิตมาแล้ว เราได้เครื่องมือที่จะปฏิบัติต่อ พอเรามีจิตที่ตั้งมั่น สติระลึกรู้กาย มันจะเห็นว่ากายกับจิตเป็นคนละอันกัน นี่เราแยกขันธ์ได้แล้ว การแยกขันธ์ไม่ใช่การถอดจิตออกจากร่าง เอาจิตไปไว้บนหลังคา มองย้อนลงมาเห็นร่างกายนอนอยู่อะไรอย่างนี้ ไม่ใช่ อันนั้นไม่ใช่การแยกขันธ์ อันนั้นเป็นการถอดจิต แล้วบางทีถอดแล้ว หนีไปเที่ยวที่อื่นอะไร

0 comments

Σχόλια


bottom of page