top of page
Writer's pictureวัดพลา

คอยรู้เท่าทันความคิดของตัวเอง

จุดตั้งต้นของการปฏิบัติที่ลัดสั้น

ถ้าเรารู้เข้ามาได้ถึงตัวความคิดได้ มันจะครอบคลุมตัวอื่นๆ ไปหมดเลย เรายืนเพราะจิตมันเป็นคนสั่ง มันคิดให้ยืน ร่างกายมันยืน มันเดิน มันนั่ง มันนอน จิตมันสั่งทั้งนั้น มันจะกิน อยู่ๆ ร่างกายมันหยิบอาหารเข้าปากไม่ได้หรอก อย่างถ้าจิตมันไม่คิด ไม่สั่งให้มือหยิบอาหารเข้าปาก มันก็เข้ามาไม่ได้ ไปนั่งมองเฉยๆ ร่างกายไม่เคลื่อนไหว จะกิน จะดื่มเพราะจิตมันสั่ง ไม่ว่าทำอะไรจิตมันก็สั่ง ให้ทำดีจิตมันก็สั่ง ทำชั่วจิตมันก็สั่ง มันสั่งผ่านความคิดออกมา ฉะนั้นท่านลงท้าย “ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด” ตัวสุดท้าย “คิด”

ฉะนั้นเราหัดรู้ทันใจมันคิด มันคิดดี หรือมันคิดร้าย ครูบาอาจารย์องค์หนึ่งของหลวงพ่อ ท่านสอนดี เหมือนกัน หลวงพ่อเกษม เขมโก ท่านบอก “คิดดีก็ใจเย็น” คือถ้าเราคิดไม่ดีมันก็ใจร้อน ท่านก็ให้รู้ทันความคิดเหมือนกัน หลวงปู่ดูลย์ก็สอนเรื่องความคิด อันนี้เป็นขั้นของวิปัสสนา ท่านบอก “คิดเท่าไรก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงจะรู้ แต่ก็อาศัยคิด” เห็นไหม ทิ้งความคิดไม่ได้ เพราะจิตมันมีหน้าที่คิดมันก็ต้องคิด ธรรมชาติของจิต มันรู้สึกนึกคิด เราไม่ได้ไปดัดแปลงมัน ให้จิตหมดความรู้สึก ไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง ไปนั่งปั้นจิตขึ้นมาแบบนั้น ก็ใช้ไม่ได้ เพียงแต่ว่าจิตมันคิด ให้เรารู้ทัน

มันคิดเพราะอะไร มันคิดดีๆ มันคิดเพราะกุศลไหม หรือว่ามันคิดชั่วๆ เพราะอกุศลไหม มันคิดไปด้วยความโลภหรือเปล่า คิดไปด้วยความโกรธไหม คิดด้วยความหลงหรือเปล่า หรือมันคิดด้วยจิตที่เป็นกุศล อย่างเราเห็นแมวเห็นหมาจรจัด สงสาร เอาข้าวให้กิน จิตมันเกิด อะไรอยู่เบื้องหลัง สิ่งที่เกิดคือความกรุณาเกิดขึ้นในจิต เราก็หาข้าวให้มันกิน พอมีคนมาดู เขารู้สึก แหม ดีจังเลย คนนี้ใจดี เอาข้าวให้หมาให้แมว เราเกิดคิดขึ้นมาอีก แหม เท่น่าดูเลย นี่คิดด้วยอำนาจกิเลสแล้ว หาของอร่อยๆ ไปให้มันกิน ตอนยังไม่มีคนเห็น ยังไม่ให้ มีคนเห็นแล้วถึงจะให้

พฤติกรรมอันเดียวกัน คือให้อาหารสัตว์ แต่สิ่งที่อยู่เบื้องหลัง มันคนละอันกัน ถ้ามันเป็นกุศล ให้ด้วยความกรุณา หรือด้วยความเมตตา นั้นก็เป็นบุญของเรา ถ้าให้โดยการเจือกิเลสลงไป บุญนั้นกระพร่องกระแพร่ง ไม่สมบูรณ์ ได้บุญเล็กน้อย แต่ก็สะสมกิเลสให้รุนแรงยิ่งขึ้น เหมือนบางคนทำบุญ เรียกทำบุญเอาหน้า ทำบุญแล้ว จะได้เข้าใกล้ครูบาอาจารย์ ถวายเงิน ถวายโน่นถวายนี่ สิ่งที่แฝงเร้นอยู่หลังความคิดที่จะทำบุญ มันกลายเป็นกิเลสไป

ฉะนั้นเราพยายามรอบคอบ สังเกตจิตใจของเราอย่างซื่อตรง ระมัดระวัง ค่อยๆ สังเกตไป อะไรมาอยู่เบื้องหลังความคิดของเรา กุศลหรืออกุศล โลภหรือเปล่า โกรธหรือเปล่า หลงหรือเปล่า สังเกตไป ถ้าเราทำตรงนี้ได้ คำพูด การกระทำ การเลี้ยงชีวิตของเรา จะสะอาดหมดจดมากขึ้นๆ แล้วการที่เราคอยรู้เท่าทันความคิดของตัวเอง เราไม่คิดไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ แต่คิดไปด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหะ ขณะที่เราคอยรู้เท่าทันจิตใจตัวเองอย่างนั้นอยู่ สัมมาวายามะมันเกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว

เพราะเราอาศัยมีสติรู้เนื้อรู้ตัว อ่านจิตอ่านใจตัวเองไป พอความชั่วมันมาครอบงำความคิดเราไม่ได้ คำพูดเรามันก็ดี การกระทำของเรามันก็ดี การดำรงชีวิตของเราก็ดี แล้วทั้งหมดทั้งสิ้นนั้นก็คือความเพียรชอบแล้วก็มีความเพียรชอบ ในขณะนั้นเรากำลังมีความเพียรละกิเลส ละอกุศลที่กำลังมีอยู่ แล้วก็ปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด ในขณะที่เรามีสติอ่านจิตใจตัวเองออก อะไรอยู่เบื้องหลังความคิดของเรา ขณะนั้นเรามีสติ กุศลเกิด กุศลที่ยังไม่เกิดก็เกิด ที่เกิดแล้วก็เกิดบ่อยขึ้น ชำนิชำนาญขึ้น

เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติที่ลัดสั้นมากเลย ทำแป๊บเดียวองค์มรรคทั้ง 8 มันสมบูรณ์ขึ้นมา อาศัยความคิดถูก แต่มันคิดถูกได้อย่างนี้ ก็เพราะมีความเห็นถูก ความเห็นถูกอย่างที่พวกเรานั่งฟังหลวงพ่อ มันเกิดความเห็นถูกในภาคปริยัติ แล้วเราก็ลงมือปฏิบัติ ด้วยการรู้เท่าทันความคิดของตัวเอง ว่าอะไรอยู่เบื้องหลังอโลภะ อโทสะ อโมหะ หรือโลภะ โทสะ โมหะ อยู่เบื้องหลังความคิด ถัดจากนั้นองค์มรรคที่เหลือ มันจะก้าวกระโดด สัมมาวาจามันก็เกิดเอง เพราะเรารู้ทัน จิตเราโกรธ เราอยากด่าแล้วเรารู้ทัน ความโกรธก็ดับ เราก็ไม่ด่าใคร

หรือเราอยากประจบสอพลอ เราชอบเขา เราจะไปจีบสาว สาวจะจีบหนุ่ม ตอนจะจีบกัน มุสาวาทจะรุนแรงมากเป็นพิเศษ สังเกตให้ดีเถอะ อย่างเห็นสาว โอ๊ย สวยที่สุดในโลก แค่ประโยคเดียว มันก็มุสาแล้ว ไปประจบเขา รู้ได้อย่างไร ว่าสาวคนนี้สวยที่สุดในโลก สวยไม่มีสภาวะ เราว่าสวย คนอื่นเขาว่าน่าเกลียดก็ได้ คำพูดซึ่งมันไม่มีสติปัญญากำกับจิตใจอยู่ มันก็พูดไปตามราคะบ้าง โทสะบ้าง พูดเพราะหลงบ้าง การกระทำ พอความคิดเราไม่ดี การกระทำมันก็ออกมาในทางไม่ดี ความคิดเราดี การกระทำก็ออกมาในทางดี นั่นก็มีสัมมากัมมันตะ มีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ

สัมมาอาชีวะ

การเลี้ยงชีวิตของเรา เรารู้ว่าเราทำงานอาชีพนี้ ทำเพราะอะไร สังเกตเอา แต่เรื่องอาชีพ หลวงพ่อเห็นใจฆราวาส ฆราวาสไม่เหมือนพระ พระ อาชีพก็คือขอทาน ถึงเวลาก็เอาบาตรไปขอข้าวเขากิน อาชีพพระ ถ้าทำอย่างอื่นก็เป็นมิจฉาอาชีวะ ถ้าเป็นอาชีพของภิกขุ เป็นผู้ขออย่างมีมารยาท ขอแบบรู้ประมาณ ก็เป็นสัมมาอาชีวะของพระ แต่ฆราวาสมันทำยาก อย่างการทำมาหากิน จะให้มันสะอาดหมดจดจริงๆ ยากมากเลย อย่างเราจะขายของอะไรสักอย่าง เราต้องโฆษณา มีไหมใครโฆษณาบอกว่า ของๆ เราคุณภาพอย่างนั้นๆ ล่ะไม่มีหรอก มันก็ต้องบอกคุณภาพดี

หรือบางทีเรา อาชีพทางบ้านอาชีพเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลาอะไรอย่างนี้ เราจำเป็นต้องทำ ยังเปลี่ยนอาชีพไม่ได้ มันจำเป็นต้องทำ มันก็ต้องทำไปก่อน ยังไม่สามารถอยู่ๆ ก็เลิกเลย แต่ก็วางใจให้ดี กรรมมันก็จะลดลง ความรุนแรงมันก็จะน้อยลง หรืออย่างพระหลวงพ่อนี้ก็มี เขาเป็นดาราเป็นนักแสดง เมื่อวานนี้ถามหลวงพ่อบอกว่า “เป็นนักแสดงมันขวางการปฏิบัติไหม” หลวงพ่อบอกว่าถ้าเป็นพระ หลวงพ่อก็จะบอกตรงไปตรงมา ถ้าเป็นโยมต้องบอกแบบประคับประคองมากหน่อย เป็นโยมก็บอกว่า “มันก็ไม่ค่อยดีหรอก อาชีพนี้มันไม่ยั่งยืน หาอาชีพอื่นทำได้ก็ทำไปเถอะ” ไม่อย่างนั้นจิตเศร้าหมอง

ถ้าเป็นพระมาถาม หลวงพ่อก็จะตอบอีกแบบหนึ่ง จะเล่าเรื่องพระตาลบุตรให้ฟัง พระตาลบุตรท่านเป็นนักแสดงมีชื่อเสียงในครั้งพุทธกาล ร้องเพลงก็เก่ง เต้นรำก็เก่ง เป็นดาราดังในยุคนั้น แล้วก็ท่านมีความอิ่มอกอิ่มใจ ว่าท่านได้สร้างความดีมากมาย ทำให้คนมีความสุข มีความคิดอย่างนี้ว่า ทำให้คนมีความสุข ตายไปน่าจะขึ้นสวรรค์ เพราะอาจารย์ของท่านบอก เราเป็นนักแสดงทำให้คนมีความสุข ตายแล้วเราขึ้นสวรรค์ ตาลบุตรก็มาถามพระพุทธเจ้าว่า “พระองค์เห็นด้วยไหมอันนี้”

พระพุทธเจ้าไม่ตอบ ไม่ตอบเพราะว่าเธอยังเป็นฆราวาสอยู่ พูดหักหาญนัก มันก็ไม่รู้จะไปทำมาหากินอะไร ถามครั้งที่หนึ่ง ไม่ตอบ ครั้งที่สอง ไม่ตอบ พอครั้งที่สาม ท่านรู้แล้วว่าอินทรีย์เขาแก่กล้าขึ้นแล้ว เขาตั้งใจอยากได้คำตอบจริงๆ แล้ว ท่านก็บอกว่า “การเป็นนักร้อง นักแสดง มันไปทำกิเลสของตัวเองที่ยังไม่เกิดให้เกิด ทำกิเลสของตัวเองที่เกิดแล้วให้แรงขึ้น ทำกุศลของตัวเองที่มีอยู่ให้มันไม่มี ให้มันหมดไปสิ้นไป แล้วก็กุศลใหม่มันก็ไม่เกิด”

แล้วก็เป็นการทำอกุศลของคนที่มาดู ที่ยังไม่เกิดให้เกิด คนที่มีกิเลสเยอะอยู่แล้ว มาดูแล้วก็ยิ่งกิเลสเยอะกว่าเก่าอีก กุศลที่มีอยู่ เช่น จิตใจกำลังสงบ สบาย จิตใจเป็นธรรมะธัมโมอยู่ พอมาดูการละเล่นของเรา เดี๋ยวจิตก็มีราคะ เดี๋ยวจิตก็มีโทสะ อย่างผู้แสดงเองก็ต้องบิลด์อารมณ์ของตัวเอง ให้เศร้า ให้รัก ให้โกรธอะไรต่ออะไร หมุนอยู่อย่างนี้ แล้วก็ครอบงำความรู้สึกนี้ให้คนอื่นด้วย ฉะนั้นตัวเองก็เป็นอกุศล แล้วคนอื่นก็เป็นอกุศลด้วย ท่านฟันธงเลยว่า “ตกนรก ไม่ใช่ขึ้นสวรรค์”

มันเป็นเรื่องพิถีพิถัน อย่างฆราวาสเขาเป็นนักแสดง เซ็นสัญญาไว้แล้ว ยังต้องแสดงอยู่ก็แสดงไปก่อน แล้วก็หาทางทำมาหากินอย่างอื่นไป ค่อยปรับค่อยเปลี่ยน เคยเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลา ก็หาทางปรับเปลี่ยนอาชีพเสีย ทำอยู่อย่างนี้รู้ว่ามันไม่ดี รู้ว่ามันไม่ถูก อันนี้ดี ถือว่าดี รู้ผิดชอบชั่วดี อย่างถ้าเราเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่เอาไว้ขาย เอาไว้ฆ่า แล้วเรารู้สึกไม่ผิด อันนี้จิตประกอบด้วยโมหะ เพราะฉะนั้นอกุศลมันรุนแรง เป็นอกุศลที่มีโมหะกำกับอยู่ ร้ายกาจที่สุดเลย ร้ายกว่าราคะ โทสะอีก

ไม่มีอกุศลตัวไหนร้ายเท่าตัวโมหะ ตัวหลง ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ฉะนั้นอย่างเราทำอาชีพ เรารู้อาชีพนี้มันยังไม่ดี รู้ว่ามันไม่ดี รู้ว่ามันไม่ถูก อันนี้ถือว่าอย่างน้อยก็ยังรู้ผิดชอบชั่วดี อกุศลที่มีอยู่ไม่แรง แต่ถ้าทำโดยมีโมหะประกอบด้วย อกุศลนั้นรุนแรง แล้วก็เรารู้ว่ามันไม่ถูกไม่ดี ก็ค่อยๆ หาทางปรับ หาทางเปลี่ยนไป เรื่องสัมมาอาชีวะของฆราวาส ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ไม่อย่างนั้นอดตาย ใครจะเลี้ยง อย่างพระไปบิณฑบาต คนเขาก็ยังให้ข้าวกิน แต่ว่าทุกวันนี้พระก็ลำบาก คนก็ชอบมีแต่ข่าวพระไม่ดี พระดีๆ ไม่เคยมีข่าวหรอก

คนจำนวนมากบอกไม่ใส่บาตรแล้ว ไม่ใส่บาตรพระก็อยู่ไม่ได้ พระอยากอยู่ พระก็ต้องทำอะไรพิลึกๆ ไป ทำไอ้โน้นขาย ทำไอ้นี่ขาย รดน้ำมนต์ พ่นน้ำหมาก ขากเสลด ก็ต้องทำไป วุ่นวาย ลำบาก อาชีพมันเกินสัมมาอาชีวะของพระไปแล้ว หรือต้องสร้างเทวรูปไว้ตามวัด ให้คนมาไหว้ แล้วหวังจะขายดอกไม้ ธูป เทียน ตอนนี้เข้าวัดไหนก็เจอ ปั้นกันเต็มไปหมดเลย แทบทุกวัด ทำไมต้องทำอย่างนั้น ก็เพื่อความอยู่รอดแล้ว แต่เดิมเราชาวพุทธ เราเลี้ยงวัด เลี้ยงพระ ทุกวันนี้เราไม่ได้สนใจ ไม่ได้สนใจธรรมะ คนส่วนใหญ่ทิ้งไปแล้ว มันเป็นพุทธแต่ชื่อหรอก แต่ว่าศาสนาพุทธสอนอะไรบ้างไม่รู้ รู้แต่ว่าถ้ามีคนตายก็ไปเผาที่วัด อย่างพระบางวัด ท่านก็ยังหากินอยู่กับการเผาศพ แต่อาชีพนี้ไม่ยั่งยืนแล้ว ต่อไปมันจะมีธุรกิจเผาศพ ใช้เงินน้อยกว่าไปเผาที่วัดอีก

ฉะนั้นเรื่องสัมมาอาชีวะ มันจะกระทบหนักกับโยม ก็หากินลำบาก ทุกวันนี้พระก็หากินยาก แค่บิณฑบาตให้พออิ่มวันหนึ่งๆ ไม่ใช่ง่ายแล้ว มีเงื่อนไขอะไรขึ้นมาควบคุมมากมายเลย อย่างบอกห้ามพระไปบิณฑบาต ไปยืนที่ตลาด เพราะว่าพระวินัยบอกให้เดินไปตามลำดับบ้าน ถ้าพระเดินไปตลาดแล้วก็ผ่านตลาดไปเลย คนก็ใส่บาตรได้หนึ่งราย แล้วก็ไม่มีแล้ว อย่างในหมู่บ้านนี้ ไปเดินตามลำดับบ้าน ไม่มีคน เช้าขึ้นมาคนเข้าโรงงานไปหมดแล้ว พออาหารไม่พอ ครูบาอาจารย์ท่านเคยบอกไว้ อย่างนักปฏิบัติหรือพระ ถ้าอาหารไม่พอ มันภาวนาไม่ไหว เรียกว่ามีปลิโพธ เรื่องอาหารปลิโพธ อาหารไม่พอ

เมื่อก่อนครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ซึ่งท่านมีฤทธิ์มากคือหลวงปู่ชอบ ท่านเดินธุดงค์ไปทะลุชายแดน ออกไปประเทศเพื่อนบ้านเราประเทศหนึ่ง ประเทศนี้พระทั้งประเทศเลย พระเยอะแยะเลย ผู้ชายหนึ่งในสามเป็นพระ ชาวบ้านใส่บาตรก็ใส่ช้อนเดียว บ้านหนึ่งเขาใส่นิดเดียว พระไทยไป หาที่บิณฑบาตไม่เจอ พระประเทศนั้น บางทีขึ้นไปบิณฑบาตบนบ้าน บ้านฆราวาส บ้านโยม เขาไม่ลงมาใส่บาตรหน้าบ้าน พระไทยเราไป ท่านพ่อลีท่านก็เคย ไปทีแรกงงเลย เดินบิณฑบาตไม่มีคนใส่ ไม่รู้วิธี 2 วัน 3 วัน พระพม่าสงสาร บอกตามมาเดี๋ยวพาไป ก็พาขึ้นในบ้าน ก็ขึ้นบ้านเขาๆ ถึงใส่

หลวงปู่ชอบท่านก็บอกว่า ประเทศนี้พระเยอะ คนมีศรัทธาในศาสนาพุทธเยอะ แต่พระเยอะจนชาวบ้านเลี้ยงไม่ไหว อาหารไม่พอ มีอาหารปลิโพธ ยากที่จะทำมรรคผลให้เกิด ท่านบอกอย่างนี้ ของเราทุกวันนี้ก็ใกล้แล้ว พระวัดหลวงพ่อ พระเกือบ 30 องค์ 20 กว่าองค์ ไปบิณฑบาตพอฉันอยู่สัก 3 องค์เท่านั้น ที่เหลือก็ต้องปรับเปลี่ยน มีแม่ครัวมีอะไร หรือพวกเรามาวัด บางวัดไม่มีโยมมา ไม่มี มีแต่เอาหมามาปล่อย เอาข้าวมาให้พระไหม ไม่เอา

“อันไหนมันไม่ถูก ค่อยปรับค่อยแก้เสีย ถ้าไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ก็ไม่มีวันได้ดีหรอก เพราะว่ามันทำชั่วโดยไม่รู้ว่าชั่ว มันเอาดีไม่ได้”


0 comments

Comments


bottom of page